วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สิ่งแวดล้อมกับการสร้างสรรค์วัฒนธรรม

มาตรฐาน ส 5.2

      เข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

มาตรฐานการเรียนรู้ ส 5.2.2
      เข้าใจกระบานการที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่มีลักษณะพิเศษ หรือเป็นเอกลักษณะเฉพาะแต่ละพื้นที่ในประเทศ และโลก และการเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบัน ภาคภูมิใจและดำรงชีวิตตามแนวการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางสังคม ภูมิปัญญาไทย
      ก่อนที่จะศึกษาเนื้อเรื่องให้ทำการทดสอบก่อนเรียนดูซิว่าจะทำถูกสักกี่ข้อ
คำสั่ง จงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียวลงในกระดาษคำตอบ


1. ข้อใดคือความหมายของคำว่า สิ่งแวดล้อม
     ก. สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิต
     ข. สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
     ค. สิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นโลก
     ง. สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนพื้นโลก
2. องค์ประกอบของโลกแบ่งออกเป็น 4 ภาค ใหญ่ ๆ ข้อใดไม่ใช่องค์ประกอบของโลก
     ก. บรรยากาศ                          ข. อุทกภาค
     ค. ธรณีภาค                             ง. ภูมิภาค
3. ข้อใดคือสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านทรัพยากรในประเทศไทย
     ก. การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำพื้นที่ใช้ในการเกษตร
     ข. เกษตรกรมีที่ทำกินน้อย
     ค. การขาดแคลนทรัพยากรน้ำ
     ง. การเพิ่มขึ้นของประชากร
4. ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเกิดปัญหาของดินในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย
     ก. การเกิดดินเค็มในภาตะวันออกเฉียงเหนือ
     ข. การเกิดดินเปรี้ยวในภาคพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง
     ค. การเกิดดินจืดมนภาคตะวันออก
     ง. การเกิดดินตะกอนในชายฝั่งทะเลภาคใต้
5. จากโครงสร้างทางธรณีวิทยา ภาคใดของไทยที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งเนื่องมาจากดินเป็นทรายไม่อุ้มน้ำ
     ก. ภาคเหนือ                     ข. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     ค. ภาคตะวันตก                ง. ภาคตะวันออก
6. ปรากฎการณ์เอลนีโญ (ELnino) มีผลกระทบต่อประเทศไทยเช่นไร
     ก. เกิดภาวะฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน และภาวะฝนแล้งอย่างรุนแรง
     ข. เกิดภาวะฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่มเป็นวงกว้าง
     ค. เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง และแผ่นดินไหว
     ง. เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง และไฟไหม้ป่า
7. ข้อใดมิใช่สาเหตุการเกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก
     ก. การเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้เกิดแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์
     ข. การมีสารพิษตกค้างในผลผลิตเกษตรถูกชะล้างเมื่อมีฝน
     ค. การเผาไหม้ของถ่านหินของโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า
     ง. การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เนื่องจากโอโซนในอากาศถูกทำลาย
8. พืชชนิดใดบ้างที่จะนำธาตุอาหารในดินออกไปนอกประเทศ เมื่อมีการนำผลผลิตไปขายต่างประเทศ
     ก. ข้าว แตงโม ลำไย                         ข. อ้อย ข้าว สับปะรด
     ค. อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง          ง. ข้าวโพด สับปะรด ปอ
9. ในปัจจุบัน จะมีการพบว่ากรุงเทพมหานครจะมีน้ำท่วมทุก ๆ กี่ปี
     ก. ทุกปี                                              ข. 2 ปี
     ค. 3 ปี                                                ง. 4 ปี
10. โครงการ “พรมสีเขียว” ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโครงการพลิกฟื้นคืนชีวิต ป่าไม้ชนิดใด
     ก. ป่าดงดิบ                                        ข. ป่าดินเขา
     ค. ป้าเบญจพรรณ                               ง. ป่าชายเลน
11. ข้อใดเป็นสัตว์ป่าสงวน
     ก. เสือ                                                ข. กระทิง
     ค. หมูป่า                                             ง. ควายป่า
12. ข้อมดเป็นกลุ่มสัตว์ป่าที่สูญพันธุ์ไปแล้วตามสภาพธรรมชาติ
     ก. เนื้อสมัน นกช้อนหอยใหญ่ ปลาหางเหยี่ยว
     ข. ละอง แรด กรูปรี
     ค. นกกระสาปากเหลือง นกช้อนหอยดำ นกกระสา
     ง. ตะโขง เต่านา ปลาบึก
13. กรุงเทพมหานครในปัจจุบันประสบกับมลพิษด้านใดมากที่สุด
     ก. มลพิษทางน้ำ                                   ข. มลพิษทางอากาศ
     ค. มลพิษทางเสียง                                ง. มลพิษทางสายตา
14. ปัญหาน้ำเสียในพื้นที่เกษตรกรรมในชนบทมีสาเหตุมาจากสิ่งใด
     ก. น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม         ข. น้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนและชุมชน
     ค. น้ำทิ้งจากการเลี้ยวสัตว์                     ง. น้ำเสียจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก
15. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กำหนดมาตรฐานหรือเกณฑ์ของระดับเสียงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพที่เท่าใด
     ก. สูงกว่า 70 เดซิเบล เอ                       ข. สูงกว่า 60 เดซิเบล เอ
     ค. สูงกว่า 50 เดซิเบล เอ                       ง. สูงกว่า 40 เดซิเบล เอ
16. ข้อใดเป็นสารมลพิษที่สามารถถ่ายทอดจากพืช เช่น สาหร่าย ไปสู่ปลา กุ้ง หอย และไปสู่มนุษย์ และก่อให้เกิดอันตรายมากที่สุด คือ
     ก. สารตะกั่ว                                           ข. สารดีดีที
     ค. สารแมงกานีส                                    ง. สารปรอท
17. ข้อใดเป็นสาเหตุที่สำคัญและเป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดขยะมูลฝอย
     ก. จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น           ข. สภาพความเป็นอยู่ของประชากร
     ค. ความมักง่ายของประชาชน               ง. การเก็บขยะไม่มีประสิทธิภาพ
18. ข้อใดเป็นขยะพิษที่มีอันตรายมากที่สุด
     ก. พลาสติก                                           ข. ยาง
     ค. ถ่านไฟฉาย                                       ง. เหล็ก
19. ข้อใดเป็นประเภทของขยะมูลฝอยที่เผาไหม้ได้
     ก. แก้ว                                                   ข. เซรามิก
     ค. เหล็ก                                                 ง. โฟม
20. จากการเก็บขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานครพบว่า สำนักงานเขตที่มีประชากรทิ้งขยะมูลฝอยเป็นปริมาณสูงสุดคือพื้นที่ใด
     ก. เขตบางกะปิ                                      ข. เขตจตุจักร
     ค. เขตดอนเมือง                                   ง. เขตพระโขนง
21. ข้อใดเป็นปัญหาของเกษตรกรรมเนื่องมาจากการใช้ที่ดินอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย
     ก. การพังทลายของดิน-การเสื่อมโทรมของดิน
     ข. ดินเค็ม- การพังทลายของดิน
     ค. การเสื่อมโทรมของดิน- ดินเปรี้ยว
     ง. ดินเค็ม-ดินเปรี้ยว
22. ภาคใดของประเทศไทยที่มีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดของประเทศไทย
     ก. ภาคตะวันตก                                     ข. ภาคเหนือ
     ค. ภาคตะวันออก                                  ง. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
23. ข้อใดจัดเป็นแร่เศรษฐกิจของประเทศไทย
     ก. ควอตซ์                                             ข. ไมกา
     ค. แมงกานีส                                         ง. แคลไซต์
24. ข้อใดเป็นความหมายของการอนุรักษ์ทรัพยากรดินมากที่สุด
     ก. การใช้ดินโดยคำนึงถึงพืชที่ปลูกมีราคาแพง
     ข. การใช้ดินเพียงเล็กน้อย เพื่อความประหยัด
     ค. การใช้ดินปลูกพืชหลาย ๆ ชนิดในคราเดียวกัน
     ง. การใช้ดินโดยคำนึงถึงการป้องกัน และควบคุมการพังทลายของดิน
25. การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยการจัดการและพัฒนาในระยะยาวได้มีการกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ อย่างน้อยในอัตราร้อยละเท่าไรของพื้นที่
     ก. ร้อยละ 30                                          ข. ร้อยละ 40
     ค. ร้อยละ 50                                          ง. ร้อยละ 60
26. ประเทศไทยได้กำหนด “วันสิ่งแวดล้อมไทย” ตรงกับข้อใด
     ก. 5 ธันวาคม                                         ข. 12 สิงหาคม
     ค. 5 มิถุนายน                                         ง. 1 มกราคม
27. องค์การสหประชาชาติได้กำหนดวันในข้อใดของทกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก
     ก. 5 ธันวาคม                                         ข. 12 สิงหาคม
     ค. 5 มิถุนายน                                         ง. 1 มกราคม
28. ถังขยะสีใดที่กรุงเทพมหานคร กำหนดให้ใส่ขยะที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
     ก. ถังสีเขียว                                           ข. ถังสีฟ้า
     ค. ถังสีเหลือง                                        ง. ถังสีแดง
29. ข้อใดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยได้ดีที่สุด
     ก. ลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก และวัสดุทำจากโฟม
     ข. ซ่อมแซมเครื่องใช้ที่ชำรุด แล้วนำกลับมาใช้ใหม่แทนการทิ้ง
     ค. การรีไซเคิลขยะที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้อีก
     ง. สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในการทิ้งขยะมูลฝอย
30. นักเรียนควรจะนะขยะเปียกซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทิ้งลงในถังขยะสีใด
     ก. สีเขียว                                                ข. สีฟ้า
     ค. สีแดง                                                  ง. สีเหลือง
(ถ้าทดสอบทำคะแนนไม่ได้ถึง 15 คะแนน ให้พยายามทดสอบใหม่อีกครั้งหลังศึกษาเนื้อเรื่องจบแล้ว) 

สิ่งแวดล้อมกับการสร้างสรรค์วัฒนธรรม


ความหมายของวัฒนธรรม
      พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ให้นิยามความหมายของวัฒนธรรม หมายถึง ลักษณะที่แสดงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน หรือวัฒนธรรมตามความหมายของ ไทเลอร์ (E.B Tylor, 1987) อธิบายไว้ว่า วัฒนธรรม หมายถึงสิ่งทั้งปวงซึ่งซับซ้อนประกอบด้วย ความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ คุณธรรม กฎหมาย ธรรมเนียม ประเพณี
และสมรรถภาพอื่น ๆ รวมทั้งนิสัยต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้จากการเป็นสมาชิกของสังคม
      พระยาอนุมานราชธน อธิบายไว้ว่า วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือผลิตขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตของมนุษย์ในส่วนรวมที่ถ่ายทอดกันได้ เลียนแบบกันได้ เอาอย่างกันได้ ฯลฯ
      ความหมายของวัฒนธรรมมีมากมาย แต่ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้ดี คือ ความหมายของ สนิท สมัครการ ที่กล่าวว่าวัฒนธรรม คือ วิถีชีวิตทั้งมวลของสังคมหนึ่ง จากความหมายดังกล่าว วิถีทางดำรงชีวิตของสังคม ย่อมถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมการสร้างงานศิลปะ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความรู้ ความเชื่อ ฯลฯ
      ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อม
          จากความหมายของวัฒนธรรมที่ว่า “วัฒนธรรม คือ วิถีทางดำรงชีวิตของสังคม” ซึ่งดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมนั้นจะต้องนำเอาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เอง ได้แก่
1. ความต้องการด้านชีวภาพ เช่น อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค
2. ความต้องการด้านกายภาพ เช่น ต้องการมีบ้านเรือน มีรถยนต์
3. ความต้องการด้านจิตใจ เช่น ความสวยงาม ความรัก
4. ความต้องการด้านสังคม เช่น ความเป็นที่เคารพนับถือ การสีสถานภาพที่ดีในสังคม

สิ่งแวดล้อมกับการสร้างสรรค์วัฒนธรรมของประเทศไทย
      ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้นำเอาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการดำเนินชีวิต และการพัฒนาประเทศมาเป็นเวลาช้านาน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตที่มีลักษณะแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมในการประกอบอาชีพ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. อาชีพเกษตรกรรม การเกษตรกรรมของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะปลูกจะอาศัยน้ำฝนเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นที่ราบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาคกลางพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ภาคกลางจึงมีการทำนามากกว่าภาคอื่น
2. อาชีพประมงน้ำเค็ม อาชีพนี้ส่วนมากจะเป็นของประชากรที่มีพื้นที่ติดกับทะเล นอกจากนั้นบริเวณเหล่านี้ยังมีโรงงานเกี่ยวกับอาหารทะเลกระป๋อง
3. อาชีพประมงน้ำจืด อาชีพนี้จะอยู่ในบริเวณที่ไม่มีทะเลแต่มีแม่น้ำ หรือห้วย หนอง คลอง บึง ทดแทน
4. อาชีพเลี้ยงสัตว์ จะอยู่บริเวณที่ค่อนข้างแห้งแล้ง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์
5. อาชีพปลูกพืชไร่ จะพบในบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนน้อย เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคเหนือ เป็นต้น
6. อาชีพอุตสาหกรรม จะพบในบริเวณที่มีแหล่งวัตถุดิบ เช่น ดีบุกในภาคใต้ หรือแหล่งพลังงาน เช่น ภาคตะวันออก หรือศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง เช่น กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
7. อาชีพอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะอยู่ในบริเวณที่มีภูมิประเทศสวยงาม และภูมิอากาศดี เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต กาญจนบุรี ชลบุรี และสุราษฏร์ธานี เป็นต้น

การติดตามข่าวสารจากแหล่งเรียนรู้
      ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีก้านการสื่อสารคมนาคมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้มีการพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีโอกาสได้รับข่าวสารด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้เร็ว และมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาส่วนรวมของโลก การรับข่าวสารจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ควรมีการพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะของสี่อมวลชนประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

ประเภทของแหล่งข่าวสาร
    แหล่งข่าวสารที่นิยมนำมาเพื่อเสนอข่าวสารด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มีดังนี้
1. โปสเตอร์ เป็นการให้ข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญชนิดหนึ่ง เช่น โปสเตอร์ เป็นภาพเกี่ยวกับการชักชวนให้ประชาชนช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. หนังสือพิมพ์ เป็นการเสนอข่าวที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุด และให้รายละเอียดมากที่สุด
3. นิตยสารหรือวารสาร นอกจากจะให้ข่าวสารแล้วยังให้ความบันเทิงอีกด้วย เนื่องจากจะมีเนื้อหาสาระแล้วยังมีภาพที่สวยงาม
4. โทรทัศน์ เป็นวิธีการให้ข่าวสารที่รวดเร็วที่สุด และทั่วถึงที่สุด และได้รับความสนใจจากผู้รับมากที่สุด เนื่องจากมีทั้งภาพและเสียงในเวลาเดียวกัน
5. วิทยุ ให้ความรวดเร็ว เหมือนกับโทรทัศน์ แต่วิทยุมีเพียงแต่เสียงเท่านั้น
6. ภาพยนตร์ นอกจากจะให้ข่าวสารแล้วยังให้ความบันเทิง เหมือนกับโทรทัศน์แต่ไม่ทั่วถึงเหมือนโทรทัศน์
7. หนังสือ เป็นแหล่งข่าวสารที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด และคงทนถาวรที่สุด ให้ความลึกซึ่งมากที่สุด
8. อินเตอร์เนต เป็นการสื่อสารที่ทันสมัยให้ความรวดเร็วแต่รายละเอียดไม่สมบูรณ์เท่าหนังสือหรือวารสาร

เกณฑ์ในการพิจารณาเลือกรับข่าวสาร
      ผู้ที่จะรับข่าวสารจะต้องพิจารณาแหล่งข่าวสารแต่ละชนิด และจำเป็นที่จะต้องรู้จักลักษณะทั่วไปของแหล่งข่าวสารแต่ละประเภท ในเรื่องดังต่อไปนี้
1. แนวนโยบายของแหล่งข่าวสารแต่ละแห่ง ซึ่งมีนโยบายแตกต่างกัน เช่น โทรทัศน์มีนโยบายเพื่อความบันเทิง หนังสือพิมพ์มีนโยบายที่จะเผยแพร่ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2. ความน่าสนใจ การรับข่าวสาร บางครั้งขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่จะรับข่าวสารจากแหล่งข่าวสาร
3. เนื้อหาของข่าวสาร มีความน่าเชื่อถือหรือไม่
4. เวลาที่รับข่าวสาร
5. สถานการณ์ทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม

การเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อม

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
      ในปัจจุบันสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความสัมพันธ์ต่อความเป็นอยู่ของประชาชร ซึ่งจะสรุปได้ดังนี้
1. สถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย
      1) ทรัพยากรดิน จากการสำรวจของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม ประมาณ 167 ล้านไร่ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ปัญหาที่เกิดกับทรัพยากรดินของประเทศมีดังนี้
          1.1 ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหานี้มากที่สุด เนื่องจากเป็นดินที่เกิดจากหินทราย ทำให้ขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช
          1.2 ดินเค็ม ดินเค็มเป็นปัญหาเฉพาะของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากภาคนี้มีแร่หินเกลือจำนวนมาก น้ำใต้ดินจะชะละลายเอาเกลือซึมขึ้นมาข้างบนแล้วระเหยตัวไป ปล่อยให้เกลือสะสมอยู่บนดินชั้นบน ปลูกพืชไม่ได้ผล
          1.3 การชะล้างพังทลายของดิน พบมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้สารอาหารของพืชถูกชะล้างมากับดิน
          1.4 ดินจืด เกิดมากในบริเวณที่มีการปลูกพืชไร่ติดต่อกันโดยไม่ปรับปรุงบำรุงดิน
          1.5 ดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด เกิดในบริเวณที่มีการทำนาเป็นระยะเวลานา เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครนายก นนทบุรี และปทุมธานี เป็นต้น
      2) ทรัพยากรน้ำ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ปัญหาน้ำที่พบในประเทศไทยมีดังนี้
          2.1 ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง พื้นที่ที่พบ คือ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ (ยกเว้นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล
          2.2 น้ำท่วม จะพบในบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูน้ำหลาก
          2.3 น้ำเค็ม พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          2.4 น้ำทะเลหนุน พบบริเวณปากแม่น้ำภาคกลาง และปากแม่น้ำภาคตะวันออก
          2.5 น้ำเสีย พบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน
          2.6 มลพิษทางทะเล พบบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
      3) ทรัพยากรป่าไม้ ปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย คือ การบุกรุกทำลายป่า
      4) ทรัพยากรสัตว์ป่า สัตว์ป่าเป็นทรัพยากรคู่กับป่าไม้ เมื่อมีการตัดไม้ทำลายป่า ก็จะกระทบต่อจำนวนสัตว์ป่าไปด้วย

2. สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
      1) มลพิษทางอากาศ มลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาต่อสุขภาพอนามัยของคนไทย โดยจะพบมากในพื้นที่ที่อยู่ริมถนนที่มีการจราจรหนาแน่น หรือบริเวณใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวจะพบปริมาณฝุ่นละอองที่เกิดจากยานพาหนะ และคาร์บอนมอนนอกไซด์สูง
      2) มลพิษทางน้ำ หมายถึง ภาวะที่น้ำเป็นพิษ มีเชื่อโรงเจือปน โดยน้ำที่ถูกใช้แล้วถูกปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในลักษณะของน้ำเสียในปริมาณที่มากเกินขีดความสามารถของแหล่งน้ำธรรมชาติจะปรับตัวทัน พบในบริเวณแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ของประเทศ
      3) มลพิษทางกลิ่น ในประเทศไทยเกิดจากกลิ่นขยะมูลฝอยและสิ่งปฎิกูลที่ตกค้างกลิ่นเหม็นจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
      4) มลพิษทางเสียง พบในเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจาการจราจร หรือการอุตสาหกรรม
      5) สารมลพิษ เป็นสารที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม สารดีดีที สารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
      6) ขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล จะพบในเมืองขนาดใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก

ปรากฏการณ์เอลนิโน (Elnino)
      เอลนิโน คือ ปรากฏการณ์ความแปรปรวนของอากาศ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลเลียบชายฝั่งประเทศเปรูเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะตรงข้ามกับธรรมชาติ มีผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเปรู และพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย และเอเชียใต้ ซึ่งมีชื่อเรียกเหตุการณ์เอลนิโนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
      1) เอนโซ เกิดบริเวณมหาสมุทรซีกโลกใต้
      2) ลานินา หรือลานิญญา เกิดบริเวณเส้นศูนย์สูตร บริเวณประเทศอินโดนิเซีย โดยจะเกิดในฤดูหนาว
เอลนิโน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบ คังนี้
   1. เกิดภัยธรรมชาติ ทำให้บริเวณที่เคยมีความชุ่มชื้นกลับแห้งแล้ง และบริเวณแห้งแล้งกลับมีฝนตกหนักจนน้ำท่วม เช่น เหตุการณ์ในประเทศเปรู ช่วงปี พ.ศ. 2526-2527 โดยเกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วม และความแห้งแล้งอย่างหนักในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ใน พ.ศ. 2540 เกิดไฟป่าในอินโดนิเซีย ซึ่งเหตุการณ์ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตของประชากรเป็นจำนวนมาก
   2. ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเอลนิโนจะขัดขวางการเกิดพายุไต้ฝุ่นที่เกิดในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพายุที่นำเอาฝนและความชุ่มชื้นมาสู่ภูมิภาค ทำให้เกิดความแห้งแล้งจนก่อให้เกิดไฟป่าในประเทศอินโดนิเซีย
   3. อุณหภูมิของกระแสน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสัตว์น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกไม่สามารถปรับตัวได้
   4. ผลกระทบต่อการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาซึ่งต้องอาศัยปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก เอลนิโนทำให้ฝนตกมากในฤดูหนาว ตกน้อยในฤดูฝน ซึ่งตรงข้ามกับความต้องการของต้นข้าว ซึ่งต้องการน้ำมาในช่วงเริ่มต้านและน้ำน้อยในช่วงการเก็บเกี่ยว ก่อให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร
   5. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตของพืชและสัตว์ในบริเวณที่เกิดต้องเปลี่ยนไป เนื่องจากสภาพอุณหภูมิ และปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนไป สัตว์และพืชในทะเลหลายชนิด ไม่อาจสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ รวมทั้งบริเวณป่าฝนในเขตร้อน

ภาวะเรือนกระจก (The Greenhouse Effect)
      เกิดจากการที่มนุษย์เอาทรัพยากรโดยเฉพาะป่าไม้มาใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ทำให้เกิดการเสียสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเกิดจากการสะสมของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สมีเทน แก๊สคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน(CFC) แก๊สไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์
      การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งและหิมะในบริเวณขั้วโลก หรือบนภูเขาสูง ละลายไหลลงสู่ที่ต่ำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ซึ่งจะทำให้สิ่งมีชีวิตตามสถานที่นั้น ๆ ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังนี้
1. ผลกระทบต่อภูมิอากาศ ทำให้สิ่งมีชีวิต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
2. กระทบต่อการเกษตรกรรม ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินเปลี่ยนไป พืชบางชนิดปรับตัวไม่ได้ ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร
3. ผลกระทบต่อระดับน้ำทะเล เมื่อน้ำแข็งละลายทำให้ระดับน้ำในทะเลสูงขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในภูมิภาคอื่น ๆ ตามมา
4. ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชากร สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปจากปกติมีผลต่อการปรับตัวของมนุษย์ ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง ซึ่งบางครั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้บางคนเสียชีวิต เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ ดังที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรป

วิธีการ มาตรการการป้องกัน และแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศ และระหว่างประเทศ

แนวทางการแก้ไข วิกฤติการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ
      การพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพ การเพิ่มผลผลิต การใช้หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณภาพ และฉลาด รู้จักถนอมในการใช้ รู้จักวิธีเพิ่มพูนมูลค่าอย่างยาวนาน รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากร
      การแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ควรทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังต่อไปนี้
1. การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน
      การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน เป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างฉลาดโดยคำนึงถึงการป้องกันการพังทลายของดิน การบำรุงรักษาดิน การฟื้นฟูกำลังผลิตของดิน โดยใช้ที่ดินจำนวนน้อยเพื่อก่อให้เกิดผลผลิตมากที่สุด ดังนี้
          1) ปรับสภาพดินให้สามารถป้องกันการชะล้าง กัดเซาะ
          2) ปกคลุมดินให้พ้นจากแรงกระทบของฝนและลม
          3) เพิ่มพูนอาหารพืช
          4) ควบคุมและจัดการเกี่ยวกับน้ำ
          5) ไถพรวนให้ถูกต้อง
          6) ใช้ประโยชน์จากดินให้เหมาะสมกับลักษณะดิน
2. การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
      วิธีการอนุรักษ์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ก็คือ การแก้ที่ตัว “มนุษย์” ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด ดังนี้
          1) ไม่ทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งโสโครก ลงไปในน้ำ
          2) ครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ทิ้งของเสียลงไปในน้ำ
          3) ช่วยกันรักษาต้นน้ำลำธาร โดยการไม่ตัดไม้ทำลายป่า
3. วิธีการอนุรักษ์เพื่อก่อให้เกิดการรักษาที่ยั่งยืน
          1) กำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางการจัดการและพัฒนาป่าไม้ในระยะยาว
          2) ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ด้วยการปลูกป่าสงวน บำรุงป่า
          3) การสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้รู้คุณค่าของป่าไม้ และผลกระทบจากการทำลายป่า
4. การอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ธาตุ
      การใช้ทรัพยากรแร่ธาตุควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรที่จะดำเนินการปกป้อง คุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างชาญฉลาด และยั่งยืน โดยดำเนินการดังนี้
          1) การจัดทำแผนแม่บท กำหนดแผนการใช้ทรัพยากรแร่เพื่อให้การบริหารทรัพยากรแร่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
          2) การวางแผนนำแร่มาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
          3) กำหนดเขตพื้นที่ที่แน่นอนในการพัฒนาแหล่งแร่
          4) ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรแร่ในประเทศให้มากที่สุดและครบวงจร
          5) รัฐเข้ามามีบทบาทในการควบคุมกลไกการผลิต
          6) ส่งเสริมให้มีการวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ให้มากขึ้น

แนวทางแก้ไขวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม
   ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาร่วมกันของคนในสังคม เนื่องจากมีผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ หรือขยะมูลฝอย ซึ่งมีแนวทางในการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
1. แนวทางแกไขมลพิษทางอากาศ
    มลพิษทางอากาศมักจะเกิดในบริเวณชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่มาก สาเหตุเกิดจากปริมาณรถยนต์ และการจราจรที่หนาแน่น แนวทางในการแก้ไขมีดังนี้
      1) จัดหาและพัฒนาระบบการตรวจคุณภาพในบรรยากาศ ให้สามารถวิเคราะห์ปริมาณมลพิษทางอากาศชนิดต่าง ๆ เพื่อประเมินคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยการจัดตั้งสถานีตรวจ วัดคุณภาพอากาศในบริเวณที่การจราจรแออัด
      2) หาทางลดปริมาณการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด เพื่อให้สามารถควบคุมและรักษาคุณภาพอากาศในบรรยากาศให้ได้ตรงตามมาตรฐาน
      3) ติดตามตรวจวัดความเข้มข้นของสารพิษชนิดต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง และประเมินผลความเสียหารหรืออันตรายที่มาจากมลพิษทางอากาศ
      4) กระตุ้นให้ผู้ใช้รถยนต์ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี เพื่อลดควันดำ อันจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
      5) ออกมาตรการตรวจสอบและตรวจจับเครื่องยนต์ที่มีควันดำ
      6) รณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถยนต์มีวินัยและเคารพในกฎจราจร
2. แนวทางแกไขมลพิษทางน้ำ
      มลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญเช่นเดียวกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำเสียหรือน้ำเน่าจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีเพิ่มขึ้นทุกวัน แนวทางในการแก้ไขมลพิษทางน้ำมีดังนี้
      1) ควบคุมประชากรโดยไม่ให้มีมากเกินไป
      2) อาจมีมาตรการหรือกฎหมายเก็บค่าทิ้งน้ำเสียตามปริมาณหรือค่าบริการบำบัดน้ำเสีย
      3) รณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำ
      4) มีการบริการจัดการน้ำแบบบูรณาการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
      5) ควบคุมน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด
      6) ปรับปรุงระบบท่อน้ำทิ้ง ไม่ให้ชุมชนทิ้งน้ำใช้แล้วลงสู่คลองและแม่น้ำโดยตรง
3. แนวทางแกไขขยะมูลฝอย
      ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสกปรกไม่น่าดู และส่งกลิ่นเหม็น เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของผู้คน ตัวอย่างแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย มีดังนี้
      1) ลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้โฟมและถุงพลาสติก
      2) ซ่อมแซมแก้ไขเครื่องใช้ที่ชำรุดให้นำกลับมาใช้ประโยชน์แทนการทิ้งเป็นขยะ
      3) ควรนำขยะที่ใช้แล้ว เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติกบางชนิด โลหะ ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle)
      4) นำของที่ใช้แล้วบางชนิดกลับมาใช้ใหม่โดยดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ เช่น ขวดพลาสติกนำกลับมาดัดแปลงเป็นกระถางต้นไม้
      5) ควรแยกขยะตามประเภทของขยะ เช่น ถังสีเขียว สำหรับใส่ขยะเปียก หรือขยะย่อยสลายได้
ถังสีฟ้า ใส่ขยะทั่วไป ย่อยสลายยาก ไม่เป็นพิษ ถังสีเหลือง ใส่ขยะแห้ง สามารถนำกลับมาผลิตเป็นวัสดุใหม่ได้ ถังสีแดง สำหรับขยะที่มีอันตราย

บทบาทขององค์กรและการประสานความร่วมมือและกฎหมายสิ่งแวดล้อม
      องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งประเทศสมาชิกจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเสริมสร้างความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกและระดับประเทศ
      ประเทศไทยได้ตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมและการทำลายธรรมชาติ โดยให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติมาตลอด และได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย
      สำหรับบทบาทขององค์การทั้งภาครัฐและเอกชน โดยแต่ละองค์กรมีบทบาทเกี่ยวข้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมดังนี้
1. องค์กรภาครัฐในราชการส่วนกลาง
      พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ได้กำหนดองค์กรราชการส่วนกลางที่สำคัญ ซึ่งทำหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมดังนี้
      1. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นองค์กรในรูปคณะกรรมการ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และบุคคลซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่สาธารณประโยชน์ในดับผู้บริหารประเทศ มีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายและแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติแก่องค์กรของรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
      2. สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนประสานการบริหารจัดการกองทุนสิ่งแวดล้อมและประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค
      3. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้บริการข้อมูลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งศึกษาวิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
      4. กรมควบคุมมลพิษ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นองค์กรหลักในด้านปฏิบัติการโดยตรงในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ตรวจและควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ อาจเสนอแนะให้สั่งปิดหรือพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือการสั่งให้หยุดใช้หรือทำประโยชน์ด้วยประการใด ๆ เกี่ยวกับแหล่งมลพิษ
      5. กรมโรงงานอุตสาหกรรม สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลและประสานงานการประกอบธุรกิจ อุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยยึดแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และการประหยัด พลังงานในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ตลอดจนเป็นผู้ควบคุมการนำเข้าและส่งออกวัตถุอันตราย

2. องค์กรภาครัฐในส่วนภูมิภาค
    พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญของสิ่งแวดล้อมภูมิภาค
      1. ผู้ว่าราชการจังหวัด มีบทบาทสำคัญอำนาจหน้าที่ คือ ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ พนักงานท้องถิ่นในการปฏิบัติการภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานอื่นในกรณีเป็นปัญหามลพิษในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างเขตการปกครองของสองจังหวัดขึ้นไป
      2. นายอำเภอ เป็นเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายได้กำหนดภารกิจหรือหน้าที่สำคัญ และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายให้การปฏิบัติหน้าที่บรรลุกฎหมาย หรือวัตถุประสงค์ที่กฏหมายกำหนดในพื้นที่รับผิดชอบ
      3. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค เป็นหน่วยงานสังกัดนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมที่มีสำนักงานในส่วนภูมิภาค 4 แห่งทั่วประเทศ คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรีและจังหวัดสงขลา โดยมีบทบาทหน้าที่ คือ ประสานงาน จัดทำรายงานเกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานงานและให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่หน่วยงาน ภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่รับผิดชอบ

3. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่
      1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด
      2. เทศบาล
      3. สภาตำบล
      4. เมืองพัทยา
      5. กรุงเทพมหานคร
      องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ กฎหมายได้กำหนดบทบาท อำนาจ และหน้าที่ของเจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่นไว้หลายประการ เช่น จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลด และขจัดมลพิษในท้องถิ่นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด จัดให้มีระบบบำบัดของเสียรวม โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือรายได้ส่วนท้องถิ่นรวมกับเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมฉบับต่าง ๆ ด้วย เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

4. องค์กรภาคเอกชนและประชาชน
    องค์กรประเภทนี้มีความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทองค์กรประเภทนี้เป็นอย่างมาก องค์กรที่จดทะเบียนแล้วมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณภาพ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวสามารถดำเนินการเองโดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานหรือองค์กรใด แต่กฎหมายเพียงแสดงการยอมรับในบทบาทขององค์กรเอกชรเท่านั้น รัฐไม่ได้รับรองสิทธิและหน้าที่อย่างสมบูรณ์
    ประชาชนเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศทุกระดับรัฐต้องรับรองสิทธิของประชาชนไว้ในกฎหมาย เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพ หน่วยงานของรัฐ เช่น ในกฎหมายกำหนดให้ประชาชนผู้พบเห็นการกระทำใด ๆ เป็นการละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายสิ่งแวดล้อมประชาชนผู้พบเห็นอาจนำเรื่องเข้าร้องเรียน กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ได้ โดยให้ประชาชนผู้พบเห็นการละเมิดหรือฝ่าฝืนดังกล่าวเป็นผู้เสียหายด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
    จากปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศได้เริ่มออกกฎหมายหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกัน และแก้ไขวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้เริ่มออกกฎหมายสำคัญ ๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517
    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ได้จัดให้มีกฎหมายเฉพาะที่มีจุดประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยตราเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มีการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ
2. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
    พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ใช้มาถึงปัจจุบัน เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ประชาชน และองค์การเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายได้ระบุสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการช่วยรักษาดูแล และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กำหนดให้รัฐและประชาชนร่วมกันจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังเป็นอำนาจของรัฐ รวมทั้งได้นำแนวความคิดในการกระจายอำนาจการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่การปกครองระดับท้องถิ่นมากขึ้น นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีบทบัญญัติต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา